ครม.กดปุ่มเดินหน้าระดมทุนผ่านกองทุน "ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์" ประเดิม 2 โครงการ
ทางด่วนของ กทพ. 44,819 ล้านบาท ดึงรายได้จากทางด่วนฉลองรัช-บูรพาวิถีล่อใจ
"ประยุทธ์" ย้ำให้ขายหน่วยลงทุนให้ประชาชนก่อน อย่าให้ซ้ำรอยแปรรูป
ปตท.
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า
คณะรัฐมนตรี (ครม.)
มีมติเห็นชอบการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย
(ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
ซึ่งจุดประสงค์ของการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานฯ
ก็เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ
ซึ่งปัจจุบันมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานรวมวงเงิน 2.3 ล้านล้านบาท
แต่เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลัง รัฐจึงกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ไม่เกิน 60%
ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งจะมีเพดานให้กู้เงินได้อีกประมาณ 2.6
ล้านล้านบาทเท่านั้น
ทั้งนี้
กทพ.จะนำรายได้ในอนาคตที่ได้จากการจัดเก็บค่าผ่านทางของ 2 เส้นทางคือ
โครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี
(บางนา-ชลบุรี) มาระดมทุนซึ่งทั้ง 2 โครงการ มีรายได้เข้ามาเป็นประจำอยู่แล้ว
โดยจะโอนรายได้ในอนาคต 45% จากทั้ง 2 โครงการ ในระยะเวลา 30 ปี มาใส่ไว้ในกองทุน
และเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปสร้างทางด่วนใหม่ 2 เส้นทางรวมวงเงิน 44,819
ล้านบาท ได้แก่ โครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
ด้านตะวันตกวงเงิน 30,437 ล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนเอ็น 2
และอีสเวสต์ คอร์ริดอร์ ด้านตะวันออก
เริ่มต้นจากหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปบรรจบกับวงแหวนตะวันออก วงเงิน 14,382
ล้านบาท
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในที่ประชุม
ครม.ว่า
กองทุนที่ออกมาครั้งนี้จะต้องให้ประชาชนได้มีส่วนได้ซื้อกองทุนเพราะว่ากองทุนนี้จะมีผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากในปัจจุบัน
อย่าให้ซ้ำรอยกับการแปรรูป ปตท.ในอดีตที่คนซื้อหุ้นส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารทั้งหลาย
ฉะนั้นกองทุนนี้ขอให้ประชาชนได้มีสิทธิ์ซื้อก่อน"
ด้านนายเอกนิติ
นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐะวิสาหกิจ (สคร.)
กล่าวว่ากองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ได้เดินหน้าอย่างชัดเจน โดยให้ กทพ.นำร่องใน 2
โครงการ
ซึ่งประเทศไทยมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
แค่กระทรวงคมนาคมกระทรวงเดียวก็มีวงเงินสำหรับโครงสร้างพื้นฐานกว่า 2.3 ล้านล้านบาท
ซึ่งในแผนปฏิบัติการของกระทรวงคมนาคม
มีบางโครงการได้ระบุไว้ชัดเจนว่าสามารถใช้แหล่งเงินจากแหล่งใหม่
หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ได้
"โครงการทางพิเศษพระราม
3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกและโครงการทางด่วนขั้นที่ 3
สายเหนือตอนเอ็น 2 วงเงินรวม 44,819 ล้านบาท ถ้าไม่มีกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์
ก็ต้องไปแย่งเงินงบประมาณ
โดยไปขอกับสำนักงบประมาณหรือไม่ก็ต้องไปแย่งเงินกู้กับโครงการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ
เช่น นำเงินไปสร้างโรงพยาบาล หรือจะใช้เงินของ กทพ.เองก็ต้องรอไปอีก 6-7 ปี
แต่ประเทศต้องการการพัฒนาจึงรอไม่ได้
จึงต้องมีแหล่งระดมทุนอันใหม่ของประเทศไทยเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ
ซึ่งตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีมากเพราะดอกเบี้ยของทั้งภูมิภาคและทั้งโลกก็ไม่ได้สูงมาก"
ทั้งนี้
จะนำรายได้ส่วนหนึ่งในอนาคตของ 2 เส้นทาง คือโครงการทางพิเศษฉลองรัช
(รามอินทรา-อาจณรงค์) และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนาชลบุรี)
มาเป็นแหล่งระดมทุนเอามาสร้างเส้นทางใหม่ของ กทพ. นอกจากนั้น
กระทรวงการคลังยังตั้งใจไว้ว่าจะใช้เกณฑ์ของ กลต.คือ
ให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นรายย่อยซื้อหุ้นก่อน และเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ลงทุน
ทางกระทรวงการคลังได้ถือหน่วยลงทุนวงเงิน 1,000 ล้านบาท และ
ครม.ได้อนุมัติให้วงเงินเพิ่มอีก 9,000 ล้านบาท รวมเป็น 10,000 ล้านบาท
เพื่อให้เห็นว่าเป็นกองทุนที่รัฐบาลเข้ามาถือหุ้นด้วย
ไม่ใช่มีแต่ภาคเอกชนอย่างเดียว
สำหรับการระดมทุนครั้งนี้ได้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยใน
5 ด้านคือ
1.ทำให้ไทยสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศท่ามกลางงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด
งบลงทุนต่อปีมีประมาณ 500,000 ล้านบาทเท่านั้น จะรอไม่ได้
เพราะจะเติบโตแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้
2.เป็นแหล่งเงินทุนใหม่ของประเทศในการระดมทุนของภาครัฐ 3.จะใช้กลไกของ กลต.ภายใต้
พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีระบบธรรมาภิบาล
จะมีกลไกตรวจสอบในการระดมทุนเพื่อความโปร่งใส
4.ไม่ทำให้เป็นภาระการคลังในอนาคตเพราะรัฐบาลไม่ได้กู้เงินและรัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันเพราะมีรายได้ที่ชัดเจนและ
5.เป็นการพัฒนาตลาดทุนเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดทุน...//
ที่มา : ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 1 มิ.ย. 2560 (กรอบบ่าย)